วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หญ้าเทวดา เป็นดั่งชื่อจริงหรือ โดย ภญ.ดร.จุไรทิพย์ หวังสินทวีกุล
ได้มีผู้กล่าวขวัญถึงสรรพคุณของหญ้าปักกิ่งไว้อย่างมากมายตั้งแต่การใช้อย่างง่ายโดยทำได้เองจนได้มีการพัฒนารูปแบบของยาปรากฏเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาอยู่ในรูปแคปซูลออกมาจำหน่าย พร้อมทั้งได้เขียนสรรพคุณมากมาย เช่น
หญ้าปักกิ่ง หรือ หญ้าเทวดา มีคุณสมบัติในการเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย, เพิ่มการเจริญเติบโตและการพัฒนาของเซลล์เม็ดเลือดขาว ซ่อมแซมเซลล์ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตับและม้าม เป็นต้น ผลตรงนี้เองที่ทำให้อดไม่ได้ทีจะไปค้นเพื่อตอบปัญหาว่า หญ้าปักกิ่งนั้นรักษาโรคได้มากมายเช่นนั้นจริงหรือ
murdannia14"หญ้าปักกิ่ง" มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หญ้าเทวดา เล่งจือเช้า ก็เรียก มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Angel Grass จัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Murdannia loriformis (Hassk.) Rolla Rao et Kammathy อยู่ในวงศ์ Commelinaceae หากดูลักษณะภายนอกแล้วคล้ายกับหญ้าชนิดหนึ่ง มีต้นสูงประมาณ 7-10 เซนติเมตร ลักษณะใบที่โคนกว้าง ประมาณ 1 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อที่ยอด รวมกันเป็นกระจุกแน่น กลีบดอกสีฟ้าหรือม่วงอ่อน หญ้าปักกิ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนแถบสิบสองปันนา มีการนำเข้า และปลูกทั่วไปในประเทศไทย เป็นพืชที่ชอบดินร่วนหรือดินปนทราย งอกงามในที่มีแดดรำไรไม่ต้องการน้ำมาก วิธีปลูกให้นำ ต้นเล็ก ที่มีรากมาปลูกหรือใช้เมล็ด อาจปลูกเป็นพืชคลุมดินใต้ต้นไม้ใหญ่ ปลูกในกระบะหรือกระถาง หญ้าปักกิ่งเป็นพืชที่ปลูกง่ายและไม่จำเป็นต้องมีเนื้อที่มาก ในประเทศจีนนำมาหญ้าปักกิ่งมาใช้รักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เป็นส่วนประกอบในยาแผนโบราณของจีนมานานกว่า 1,000 ปี ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ เพิ่มความสมดุลย์ของระบบในร่างกาย ยาจีนจัดหญ้าปักกิ่งอยู่ในกลุ่มของยาเย็น ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายและชาวจีนยังนำหญ้าปักกิ่งมาใช้ในการรักษาโรคเบาหวานอีกด้วย
การนำหญ้าปักกิ่งไปใช้ จะใช้ทั้งต้นหรือส่วนเหนือดิน โดยต้นที่นำมาใช้เป็นยา ควรมีอายุประมาณ 3-4 เดือน (ตั้งแต่เริ่มออกดอก) ในประเทศไทยประมาณ 15 ปีที่แล้ว ได้มีการใช้น้ำคั้นสดจากต้นปักกิ่ง เพื่อรักษาและบรรเทาอาการจากโรคมะเร็ง บางรายใช้ร่วมกับการรักษาแบบแผนปัจจุบันเพื่อลดผลข้างเคียง แต่ในขณะนั้นก็ยังไม่ได้มีรายงานหรือ หลักฐาน ทางวิทยาศาสตร์ ยืนยันว่ารักษาโรคมะเร็งได้ แต่ก็ได้แนวความคิดในการศึกษาว่าน้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่งนั้นจะสามารถรักษาโรคมะเร็งได้จริงหรือ? มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ความสำคัญและมีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับหญ้าปักกิ่งโดยจัดให้การศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของหญ้าปักกิ่ง มีการจัดทำมาตรฐานของหญ้าปักกิ่ง รวมไปถึงการศึกษาในการทดสอบความเป็นพิษผลการวิจัยพบว่าใบของหญ้าปักกิ่งเมื่อสัมผัสจะทำให้เกิดอาการแพ้ มีอาการผื่นคัน
ภายในใบหญ้ามีผลึกแคลเซียมออกซาเลทรูปเข้มจำนวนมากและมีเกลืออนินทรีย์ ของโซเดียมและโปแทสเซียมอยู่ประมาณ 0.1% น้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่ง ไม่ทำให้เกิดความผิดปกติในด้านการเจริญเติบโต เคมีของเลือด และพยาธิสภาพของอวัยวะสำคัญในหนูขาวและผลของการทดสอบความเป็นพิษพบว่า หญ้าปักกิ่งเป็นสมุนไพรที่ค่อนข้าง ปลอดภัยเพียงพอในขนาดรักษาติดต่อกันนาน3 เดือน ในด้านการรักษาโรคมะเร็งของหญ้าปักกิ่งได้มีการวิจัยเบื้องต้นโดยแยกสาร ที่แสดงคุณสมบัติต้านมะเร็งพบว่าหญ้าปักกิ่ง ประกอบด้วยสารกลุ่มต่างๆได้แก่ คาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโน กลัยโคไซด์ ฟลาโวนอยด์ และอะกลัยโคน ผลการทดสอบพบว่าสารในกลุ่มอะกลัยโคน และกลุ่มกลัยโคไซด์ แสดงฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง (direct toxicity)
ต่อเซลล์มะเร็งเต้านม(ATCC HTB 20) และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (SW620) ได้ ยังมีรายงานฤทธิ์ในการต้าน การกลายพันธุ์ ของหญ้าปักกิ่ง ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าหญ้าปักกิ่งอาจป้องการเกิดมะเร็งได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดีจำเป็นต้องมีการศึกษาและประเมินประสิทธิภาพของหญ้าปักกิ่งเสียก่อน รวมทั้งการศึกษาทางคลินิกเพื่อยืนยันผลให้แน่นอนอีกด้วยถึงแม้ว่าการศึกษาคุณสมบัติของหญ้าปักกิ่งในการรักษาโรคมะเร็งนั้นยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ก็ได้มีการกล่าวถึงผู้ที่เคยใช้น้ำคั้นสดจากหญ้าปักกิ่งไปรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผลก็คืออาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งมีสุขภาพดีขึ้น ดังที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ ที่อาจารย์เจือ ได้เขียนบอกเล่าไว้ในหนังสือ
"ผมรู้มาอย่างนี้แหละครับเรื่อง หญ้าปักกิ่ง" โดยเตรียมทั้งที่อยู่ในรูปน้ำคั้น ยาลูกกลอนปั้นกับน้ำผึ้ง หรืออยู่ในรูปของยาแคปซูล ในที่นี้ขอยกตัวอย่างวิธีการ เตรียมน้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่ง กล่าวคือให้นำทั้งต้น น้ำหนัก 100-120 กรัม หรือจำนวน 6 ต้น ล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆและโขลกในครกที่สะอาด ให้แหลกเติมน้ำสะอาด 4 ช้อนโต๊ะ กรองผ่านผ้าขาวบาง ส่วนวิธีใช้ ก็ให้ดื่มน้ำคั้น 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ก่อนอาหาร
หญ้าปักกิ่ง หรือยาเทวดา หรือหญ้าชุบชีวิต อย่างที่ใครบางคนให้สมญานามนั้น ก็คงจะมีสรรพคุณดี อย่างที่บอกเล่าต่อกันมา ว่ามีคุณสมบัติในการเป็นยาอายุวัฒนะ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ของร่างกายแต่เพื่อให้การใช้หญ้าปักกิ่งเพื่อการรักษาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพแล้ว ผู้ที่คิดจะใช้หญ้าปักกิ่งก็ควรที่จะใช้วิจารณญานในการตัดสินใจก่อนการนำมาใช้ในการรักษาโรคด้วย และติดตามผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับหญ้าปักกิ่งอย่างใกล้ชิดการที่หญ้าปักกิ่งจะเป็นหญ้าเทวดาดั่งที่คิดหรือไม่ ก็จะต้องขึ้นอยู่กับการใช้ว่าถูกชนิด ถูกขนาด และถูกกับโรคหรือไม่เช่นเดียวกัน
เอกสารอ้างอิง
  1. พิมลวรรณ ทิพยุทธพิจารณ์, วัลลา วามนัฐจินดา, พรรณี พิเดช. 2533. การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของหญ้าปักกิ่งในหนูขาว. สารศิริราช 473, 458-463.
  2. พิมลวรรณ ทิพยุทธพิจารณ์, วัลลา วามนัฐจินดา, พรรณี พิเดช. 2534. พิษเรื้อรังของหญ้าปักกิ่งในหนูขาว สารศิริราช, 529-533.
  3. วีณา จิรัจฉริยากูล. 2542. สารต้านมะเร็งจากหญ้าปักกิ่ง. จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 16 ฉบับที่ 3.
  4. Jiratchariyakul, W., Moonkarndi, P. Okabe, H. and Frahm, A.W. 1997. Investigation of anticancer components from Murdannia loriformis (Hassk.) Rolla Rao et Kammathy. Pharma Indochina, 20-23 May 1997, Faculty of Pharmacy, Mahidol University, Bangkok, Thailand.
  5. Vinitket kummuen U., Charoenkunathum, W., Kongtawelert, P., Lortprasertsuke, N., Picha, P. and Matsushima, T. 1996. Antimutagenicity and DT-diephorease inducer activity of the thai medicinal plant, Murdannia loriformis. Herb Spices. Medicinal Plants 4, 45-52.
ข้อมูลจากบทความวิชาการ ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น